อีริคสันประเทศไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย

บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของประเทศไทย ภายใต้โครงสร้างพื้นฐาน 5G อันแข็งแกร่งที่กำลังพัฒนายิ่งขึ้นในประเทศไทย โดยอาศัยโซลูชันเครือข่าย 5G ล้ำสมัย ผสานเข้ากับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสร้างเครือข่าย 5G ทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้และยั่งยืน ซึ่งทำให้อีริคสันมีความพร้อมเป็นส่วนสำคัญเพื่อเร่งเดินหน้าประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคง 

แผนงานหลักประการหนึ่งของอีริคสันเพื่อประเทศไทยคือการจัดตั้ง 5G Innovation and Experience Studio (5GIX Studio) ที่สร้างเสร็จใหม่ในโครงการ Thailand Digital Valley โดยเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

5GIX Studio แห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม 5G ร่วมกัน โดยใช้เครือข่ายแซนด์บ็อกซ์ 5G ที่ทันสมัยของอีริคสัน สำหรับห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะถูกใช้ในการพัฒนา ทดสอบ ตรวจสอบ และให้การรับรองยูสเคส 5G ใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลก

ห้องปฏิบัติการนี้ยังจัดแสดงความหลากหลายของยูสเคส 5G ระดับแถวหน้า รวมถึงหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) เครื่องจักรการผลิตอัตโนมัติที่เป็นความร่วมมือกับมิตซูบิชิ และกล้อง CCTV 360 องศา  แบบสวมใส่ได้ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เผยให้เห็นศักยภาพในการนำเทคโนโลยี 5G มาเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อีริคสัน ประเทศไทย เปิดกว้างรับความร่วมมือเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนร่วมสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงพันธมิตร ผู้ใช้งาน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อพัฒนายูสเคส 5G ใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรม

มร.แอนเดอร์ส เรียน ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “5G เป็นแพลตฟอร์มเพื่อนวัตกรรม ช่วยให้ผู้บริโภค องค์กรธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถใช้บริการใหม่ ๆ ได้ โดยเรายังมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเครือข่าย 5G ที่ทั้งแข็งแกร่งและมีความยั่งยืน ผมหวังว่า 5G Innovation and Experience Studio ในโครงการ Thailand Digital Valley จะส่งเสริมให้เกิดยูสเคสใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ให้กับประเทศไทย และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการอื่น ๆ ในระบบนิเวศ จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งคนไทย เศรษฐกิจ และประเทศชาติ”

จากรายงาน Ericsson Mobility ที่เพิ่งเผยแพร่ออกไป คาดการณ์ ภายในปี 2029 จำนวนผู้ใช้ 5G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มสูงถึง 560 ล้านราย โดย ณ สิ้นปี 2023 มียอดผู้ใช้ 5G ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 61 ล้านราย ซึ่งผู้สมัครใช้บริการ 5G ในระดับภูมิภาคยังคงเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากที่ผู้ใช้ย้ายมาใช้เครือข่าย 5G โดยได้รับแรงหนุนจากอุปกรณ์ 5G ที่ราคาไม่แพง โปรโมชั่นการขายที่ดึงดูดใจ  ส่วนลด และแพ็กเกจบันเดิลการใช้ดาต้าขนาดใหญ่จากผู้ให้บริการ และคาดว่าในปี 2029 ผู้สมัครใช้บริการมือถือ 5G จะเพิ่มสูงถึง 43% ของยอดผู้สมัครใช้บริการมือถือทั้งหมดในภูมิภาค และในปี 2029 จะมียอดการใช้ดาต้าต่อสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเป็น 42 กิกะไบต์ต่อเดือน จาก 17 กิกะไบต์ต่อเดือน เมื่อปี 2023

5G จะกลายเป็นเครือข่ายบนมือถือที่ได้รับความนิยมสูงสุดก่อนสิ้นสุดช่วงคาดการณ์ แม้ว่าการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 5G จะเติบโตขึ้น แต่ย่านความถี่ 5G Mid-Band ได้ถูกนำไปใช้งานเพียง 25% ของไซต์ทั้งหมดทั่วโลกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ โดยคลื่นความถี่ 5G Mid-Band มอบความลงตัวระหว่างการครอบคลุมพื้นที่และความจุ ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ 

รายงาน Ericsson Mobility เผยมีผู้ให้บริการด้านการสื่อสารทั้งหมดกว่า 300 รายทั่วโลก ที่เปิดให้บริการ 5G โดยมี 50 ราย ที่เปิดให้บริการ 5G Standalone (หรือ 5G SA) ซึ่ง 5G ยังคงเติบโตต่อเนื่องในทุกภูมิภาค และคาดว่าในปี 2029 จะมีผู้ใช้ 5G คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ช่วงสามเดือนแรกของปี 2024 มีผู้ใช้ 5G เพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 160 ล้านราย ณ ปัจจุบันอีริคสันคือผู้นำ 5G ระดับโลก โดยเปิดบริการเครือข่าย 5G ไปแล้วถึง 162 เครือข่าย ใน 69 ประเทศทั่วโลก 

รายงานล่าสุดจาก Frost & Sullivan ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำของอีริคสันในตลาดโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G ซึ่งครอบคลุมถึง Radio Access Networks (RAN), Transport Networks และ Core Networks โดยอีริคสันได้รับการจัดอันดับเป็นผู้นำอันดับ 1 ในรายงานการวิเคราะห์ตลาดโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G ของ Frost Radar™ ประจำปี 2024 ซึ่งเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน ตอกย้ำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ได้จากกลยุทธ์บริษัทที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSPs)

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *