สืบสันดาน ละครฉาวฉากใหญ่จาก Netflix ภายใต้ความร่วมมือกับ กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส ได้จารึกประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้คอนเทนต์ไทยบนเวทีโลก กับเรื่องราวการดับปริศนาของเจ้าสัวแห่งอาณาจักรเพชร สงครามแย่งชิงมรดกเลือด และประเด็นการกดขี่ระหว่างชนชั้น โดยล่าสุดทำสถิติเป็นประวัติการณ์ในฐานะ “ซีรีส์ไทย” เรื่องแรกที่สามารถขึ้นครองอันดับ 1 บนชาร์ต Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix และยังครองอันดับ 1 ซีรีส์ที่มียอดรับชมสูงสุดใน 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศโปแลนด์ มาเลเซีย และไทย อีกทั้งยังติดอันดับ Top 10 ใน 63 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, บราซิล, สเปน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ (สถิติระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2024) ต่อยอดความสำเร็จของคอนเทนต์ไทยในระดับสากล หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง HUNGER คนหิว เกมกระหาย เคยทำสถิติครองอันดับสูงสุดของโลกบน Netflix Global Top 10 หมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศในปีที่ผ่านมา รวมถึงได้รับรางวัล Best Feature Film จากงาน Asian Academy Creative Awards (AACA) ประจำปี 2023 หรือซีรีส์ระทึกขวัญอย่าง DELETE ที่ติดชาร์ต Netflix Top 10 ใน 29 ประเทศทั่วโลก และซีรีส์เรื่องล่าสุดอย่าง Ready, Set, Love เกมชนคนโสด ที่คว้าอันดับ 2 ของโลกบนชาร์ตเดียวกัน
ละครจาก Netflix เรื่อง สืบสันดาน กำกับโดย ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้ฝากผลงานภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลในระดับนานาชาติอย่างเรื่อง ที่รัก ที่คว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ครั้งที่ 40 กับรางวัล Tiger Awards รวมถึงได้รับคัดเลือกจากโครงการ The Residences by Festival de Cannes-Cinefondation เพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง อรุณกาล ซึ่งล่าสุดได้รับเลือกให้เข้าสายประกวด New Directors Competition ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซาน เซบาสเตียน และในวันนี้ที่ สืบสันดาน กำลังเป็นที่จับตามองของผู้ชมทั่วโลก ลองไปฟังมุมมองจากผู้กำกับมากฝีมือผู้นี้กันว่า อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังการสร้างคอนเทนต์ไทยในสไตล์ที่คอละครคุ้นเคยกันดี แต่ขณะเดียวกันก็สื่อสารกับผู้ชมทั่วโลกได้อย่างเป็นสากล
ภาษาภาพยนตร์และประเด็นที่เป็นสากล
ศิวโรจณ์ คงสกุล กล่าวถึงมุมมองต่อเหตุผลที่ทำให้ละครไทยอย่าง สืบสันดาน ได้รับความนิยมในเวทีโลกว่า “อาจเพราะผมเริ่มต้นจากการเป็นคนทำภาพยนตร์ จึงเน้นการใช้ภาษาภาพยนตร์ลงไปในทุกๆ ชิ้นงาน เพราะภาพยนตร์เป็นภาษาสากลที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ สืบสันดาน ไม่ได้นำเสนอแค่ไดอะล็อก แต่ใช้องค์ประกอบการเล่าเรื่องทั้งภาพ แสง และเสียงที่กลมกลืนไปกับตัวละคร ทำให้ได้ทั้งความสวยงามจากฉากและการเล่าเรื่องที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสอดแทรกประเด็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นสากลที่มนุษย์เราต่างมีความรู้สึกร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน”
เสน่ห์ของตัวละคร เมื่อเปิดพื้นที่ให้นักแสดงได้ทลายขีดจำกัด
ศิวโรจณ์เปรียบกระบวนการสร้าง สืบสันดาน เหมือนดั่งการแต่งแต้มลงไปบนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่า ความว่างเปล่าทำให้ตลอดการสร้างงานนั้นมีความสดใหม่ ทั้งทีมผู้สร้างและนักแสดงต่างตื่นเต้นกับพื้นที่อิสระตรงนี้ และทุ่มเทสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
ศิวโรจณ์ระบุว่า สืบสันดาน เป็นการรวมตัวของนักแสดงดาวรุ่งและนักแสดงระดับตำนานของไทยที่มีประสบการณ์ในแวดวงการแสดงนับสิบปี เมื่อเขาลองเปิดพื้นที่ให้นักแสดงได้เสนอไอเดียได้อย่างเต็มที่ จึงมีการใช้เทคนิคต่างๆ อย่างการ “อิมโพรไวซ์” หรือการแสดงที่เกิดจากการเข้าถึงบทบาทอย่างลึกซึ้ง ซึ่งอยู่นอกเหนือจากบทละคร เกิดเป็นเสน่ห์ของตัวละครที่สดใหม่และทำให้ผู้ชมไม่อาจละสายตาได้ “นักแสดงทุกท่านได้ทำการบ้านกับตัวละครอย่างหนัก และได้ปล่อยพลังของตัวเองที่อัดอั้นอยู่ภายใน พอนักแสดงมีอิสระในการแต่งเติมตัวละคร มีการพูดคุยกันระหว่างนักแสดงและผู้กำกับ ปรึกษากันระหว่างนักแสดงด้วยกันเอง ทำให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ และเกิดเป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากตัวละครที่พวกเขาเล่น”
งานภาพสุดอลังการที่สื่อสารกับผู้ชม
คฤหาสน์ตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล ตั้งอยู่บนที่สูงและมีทิวทัศน์อลังการโอบล้อมรอบ ซึ่งเป็นเจตนาของผู้กำกับและทีมผู้สร้างที่ต้องการให้สถานที่หลักอย่างคฤหาสน์นั้นดูกว้างใหญ่จนกระทั่งบรรดาคนรับใช้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้นดูตัวเล็กไปถนัดตา “ผมตามหาโลเคชั่นหลักนี้จากคำถามที่ว่า นอกจากความสวยแล้ว คนที่รวยมากๆ เขาซื้อพื้นที่ใหญ่ๆ เพื่อสูดอากาศที่ดีกว่าคนอื่นด้วยหรือเปล่า จนมาเจอโลเคชั่นนี้ที่มีความอลังการโอบล้อมบ้านอยู่ ทุกอย่างใหญ่โตไปหมด ทำให้ผู้คนในนั้นเป็นแค่คนตัวเล็กๆ เพียงแค่คนรับใช้เดินอยู่ ก็รู้สึกราวกับถูกข่มเหงโดยไม่รู้ตัว อาจจะถูกข่มด้วยวิวภูเขา ทิวไม้ หรือฉากอลังการ เหมือนภาพวาดที่คนจนไม่มีวันได้เดินอยู่ตรงนั้น”
สอดแทรกสัญญะที่มีความหมายลึกซึ้ง
ศิวโรจน์ระบุว่าตลอดการสร้าง สืบสันดาน เขาได้ค้นพบ Magic Moment มากมาย และหนึ่งในเกร็ดที่น่าสนใจคือตัวย่อของชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Master of the House คือ MOTH ตรงกับความหมายของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งทีมเขียนบทได้บังเอิญค้นพบระหว่างเขียนบทละคร และกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของเรื่อง โดยใน สืบสันดาน “ผีเสื้อกลางคืน” เป็นสัญลักษณ์แทนคนรับใช้ ที่อยู่ในความครอบครองของชนชั้นสูง และโดนปฏิบัติเสมือนเป็นของเล่น มีอำนาจที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้กับสัตว์ประเภทนี้ที่มีความสวยงาม แต่ก็เปราะบาง และการสะสมผีเสื้อกลางคืนยังเป็นงานอดิเรกของคนมีฐานะจำนวนหนึ่งที่ต้องการไขว่คว้าจะครอบครองของหายาก ซึ่งแม้จะสวยงาม แต่กลับไร้ซึ่งวิญญาณ
เบื้องหลังการเลือกใช้ “แสงธรรมชาติ” และ “แสงประดิษฐ์”
ศิวโรจน์เผยว่าระหว่างการถ่ายทำ เขาค้นพบองค์ประกอบแสงที่สื่อความหมาย และได้นำมาปรับใช้ในการสร้างงาน “ระหว่างถ่ายทำผมสังเกตเห็นความแตกต่างของการใช้แสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ ผมจึงกำหนดความหมายของการใช้แสงทั้งสองประเภทนี้ โดยแสงธรรมชาติจะเน้นไปที่การถ่ายในฉากกลุ่มคนรับใช้ด้วยกันเอง และใช้แสงสังเคราะห์เช่นสปอตไลต์สาดไปในฉากระหว่างคนรับใช้และเจ้านาย บางฉากเพื่อเปรียบว่าเราจะเชิดชูเหล่าคนรับใช้ หรือบางฉากก็สาดไฟใส่พวกเขาเสียจนให้ความหมายได้ว่าตัวตนพร่าเลือนหายไป และในฉากสุดท้ายที่ภูพัฒน์กับไข่มุกเผชิญหน้ากัน ผมเลือกใช้แสงโปรเจกเตอร์สาดกลับมาที่ตัวละครภูพัฒน์ เพื่อสื่อเป็นนัยของการสู้กลับ”
อิสระในการทำงานยกระดับคอนเทนต์ไทยไปสู่ระดับโลก
ศิวโรจณ์ระบุว่าที่ผ่านมามีผลงานไทยที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงในเวทีโลกมาแล้วมากมาย และเขาเชื่อว่าคอนเทนต์ไทยและอุตสาหกรรมบันเทิงไทยยังมีศักยภาพอีกมากที่รอการสนับสนุน เมื่อผู้สร้างได้สร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่ที่เปิดกว้างทางความคิด ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน ผลงานที่ออกมาจะสามารถทลายเส้นแบ่งระหว่างซีรีส์ ภาพยนตร์กระแสหลัก ภาพยนตร์นอกกระแส และละครไปได้ มีเพียงผลงานที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย
ศิวโรจณ์กล่าวว่า “ขอบคุณทาง Netflix ที่เปิดพื้นที่ให้อิสระทั้งทางความคิดและการทำงาน เมื่อมีการสนับสนุนที่ดีในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ผลงานจึงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าผมไม่ได้ทำงานกับทีมงานมืออาชีพจริงๆ ทั้งจากทาง Netflix และทีมกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จนทำให้ผมเชื่อว่าไม่มีเขื่อนอะไรมากั้นสายน้ำแห่งความสำเร็จนี้ได้”
Leave a Reply